วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567

2738 “Recipes to Pali”

คำศัพท์ที่ ๒,๗๓๘ บาลีวันละคำ คำศัพท์ว่า

เลียบพระนคร

เขียนแบบ RTGS เป็น liap

บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บไว้ทั้งคำว่า “เลียบพระนคร” และ “เลียบเมือง” 

คำว่า “เลียบพระนคร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า - 

“เลียบพระนคร : (คำกริยา) เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว, สามัญใช้ว่า เลียบเมือง.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ - 

“เลียบพระนคร : (คำกริยา) เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว, เลียบเมือง ก็ว่า.”

ส่วนคำว่า “เลียบเมือง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า - 

“เลียบเมือง : (คำกริยา) เสด็จพระราชดําเนินประทักษิณรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ - 

“เลียบเมือง : (ภาษาปาก) (คำกริยา) เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนครภายหลังบรมราชาภิเษกแล้ว, เลียบพระนคร ก็ว่า.”

ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ :

- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระนคร” 

- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้เป็น “เสด็จพระราชดำเนินรอบพระนคร” 

นั่นคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำว่า “ประทักษิณ” ออกไป

คำว่า “เลียบพระนคร” หรือ “เลียบเมือง” ในภาษาไทย ภาษาบาลีใช้คำว่า “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ”

ที่บอกว่า “กรฺ ธาตุ” (อ่านว่า กะระ-ทาด) หมายความว่า คำกริยาใช้ กรฺ ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ทำ” รูปประโยคสำเร็จอาจเป็น : 

- นครํ ปทกฺขิณํ กโรติ 

- นครํ ปทกฺขิณํ อกาสิ 

- นครํ ปทกฺขิณํ กโรนฺโต 

- นครํ ปทกฺขิณํ กตฺวา 

“กโรติ” “อกาสิ” “กโรนฺโต” “กตฺวา” เป็นคำกริยาที่สำเร็จมาจาก กรฺ ธาตุ อาจมีรูปเป็นอย่างอื่นอีกนอกจากที่แสดงไว้นี้ ขึ้นอยู่กับบริบทหรือข้อความแวดล้อมในที่นั้นๆ 

จึงกล่าวเป็นหลักกลางๆ ว่า --

..............

คำว่า “เลียบพระนคร” หรือ “เลียบเมือง” ภาษาบาลีใช้ว่า “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” หรือพูดเป็นเสียงไทยว่า นะคะรัง ปะทักขิณัง กะระ-ทาด

..............

(๑) “นครํ” คำเดิมคือ “นคร” (นะ-คะ-ระ) แปลว่า “เมือง” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “นครํ”

(๒) “ปทกฺขิณํ” คำเดิมคือ “ปทกฺขิณ” (ปะ-ทัก-ขิ-นะ) แปลว่า “เวียนขวา” หรือทับศัพท์ว่า “ประทักษิณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปทกฺขิณํ”

(๓) กรฺ ธาตุ แปลว่า “ทำ” (คำว่า “แปลว่า” นี้ สำนวนไวยากรณ์ของนักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมพูดว่า “ในอรรถว่า” = กรฺ ธาตุ ในอรรถว่า ทำ) ประกอบวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปไปตามบริบท

รวมทั้งประโยค “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” แปลว่า “ทำการเวียนขวารอบเมือง” 

แปลโดยสันทัดว่า “ทำประทักษิณรอบพระนคร” 

ตรงกับที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระนคร”

สำนวน “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” = “ทำประทักษิณรอบพระนคร” นี้ มีใช้ดาษดื่นในคัมภีร์บาลี ในโอกาสที่พระราชาพระองค์ใหม่ได้รับราชสมบัติบ้าง ในคราวที่พระราชาเสด็จไประงับเหตุร้ายชายแดนได้ชัยชนะกลับมาถึงพระนครบ้าง ในโอกาสเทศกาลงานฉลองอันเป็นมงคลต่างๆ ของบ้านเมืองบ้าง แม้กระทั่งในคราวที่ไปยึดบ้านเมืองอื่นได้ก็ยังนิยมทำประทักษิณรอบเมืองนั้นเพื่อแสดงพระองค์ให้ชาวเมืองได้รู้จัก 

สรุปว่า “นครํ ปทกฺขิณํ กรฺ ธาตุ” = “ทำประทักษิณรอบพระนคร” หรือ “เลียบพระนคร” นี้ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของบ้านเมืองอันมีมาแต่โบราณกาล

ทบทวนความ :

เมืองไทยจะมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562 อันเป็นพระราชพิธีเบื้องปลายแห่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

ขอทบทวนความดังนี้ -

..............

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ เป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีของพสกนิกรโดยทั่วกัน มีกำหนดการพระราชพิธีเป็น 3 ช่วง คือ

1. พระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ระหว่างวันที่ 6 - 23 เมษายน พุทธศักราช 2562

2. พระราชพิธีเบื้องกลาง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กำหนดวันที่ 2 - 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562

3. พระราชพิธีเบื้องปลาย เดิมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดเป็นการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม ในวันที่ 24 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2562 ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคกำหนดวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2562

..............

ดูก่อนภราดา!
พึงสดับพระพุทธพจน์ :

สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ 

ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก. 

ที่มา: ธัมมิกสูตร จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ70

: ปวงราษฎร์สุขสวัสดิ์

: ถ้าผู้ครองอำนาจรัฐดำรงธรรม

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2567

2737 “Recipes to Pali”

คำศัพท์ที่ ๒,๗๓๗ บาลีวันละคำ คำศัพท์ว่า

วาสุกรี

เขียนแบบ RTGS เป็น wasukri

นามนี้แปลว่าอะไร
อ่านว่า วา-สุ-กฺรี (กฺร ควบกล้ำ)
“วาสุกรี” บาลีเป็น “วาสุกี” รากศัพท์มาจาก วสุ (แก้ว, รัตนะ) + ก อาคม + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะ อะ ที่ ว-(สุ) เป็น อา (วสุ > วาสุ)

: วสุ + ก + ณี = วสุกณี > วสุกี > วาสุกี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีสมบัติรัตนะคือลูกแก้ว”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกความหมายของ “วาสุกี” ว่า พญาวาสุกรี, พญานาค, นาคราช

กล่าวตามนัยแห่งรากศัพท์ “วาสุกี” มาจากคำว่า “วสุ” (วะ-สุ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า ทรัพย์สมบัติ (wealth) ซึ่งท่านไขความว่า คือ “รตน” = ดวงแก้ว หรือลูกแก้ว ซึ่งน่าจะเป็นการแปลเพื่อให้สอดรับกับตำนานที่ว่า พญาวาสุกรีมีดวงแก้วมณีประดับอยู่ที่ศีรษะ
บาลี “วาสุกี” สันสกฤตเป็น “วาสุกิ” (บางทีบาลีก็อาจจะเป็น “วาสุกิ” ด้วย คือมีทั้ง “วาสุกิ” และ “วาสุกี”)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
“วาสุกิ : (คำนาม) พญานาค; sovereign of the Nāgas or snakes.”
หนังสือ “พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย” พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แปล “วาสุกี” ว่า พญางู ไม่ได้แปลว่า พญานาค (ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ตาม คำว่า “วาสุกี” ซึ่งในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “วาสุกรี” เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง พญานาค

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วาสุกรี, วาสุกี : (คำนาม) ชื่อพญานาคร้ายตนหนึ่ง; พญานาค. (ป., ส. วาสุกิ).”

อภิปรายขยายความ :

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “วาสุกรี” ที่รู้จักกันในหมู่คนไทย เรามักจะต้องนึกถึง “ท่าวาสุกรี” อันเป็นท่าเทียบเรือหลวงในกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างวัดเทวราชกุญชรกับวัดราชาธิวาส (หอสมุดแห่งชาติตั้งอยู่ใกล้กับท่าวาสุกรี)
เวลามีขบวนพยุหยาตราทางชลมารคโดยปกติ ขบวนจึงเริ่มต้นที่ท่าวาสุกรีเสมอ

“วาสุกรี” อีกคำหนึ่งที่คนไทย (รุ่นเก่า) รู้จักกันดี คือ “วาสุกรี” ที่เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ต่อมาได้เป็นท้าวทรงกันดาล) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2396

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงผนวชเป็นสามเณรและทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จนได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ทรงมีพระอัจฉริยภาพเป็นเอกในทางรจนา

ปี พ.ศ. 2533 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 (200 ปี นับแต่ปีประสูติ)

โปรดสังเกตว่าวันประสูติกับวันสิ้นพระชนม์อยู่ในเดือนเดียวกัน คือเดือนธันวาคม วันที่ก็ใกล้เคียงกันมาก คือ 9 ธันวาคม (วันสิ้นพระชนม์) และ 11 ธันวาคม (วันประสูติ)

วัดพระเชตุพนฯ จึงถือเป็นโอกาสอันดี จัดงาน “วันกรมพระปรมานุชิตชิโนรส” ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม รวมวันประสูติและวันสิ้นพระชนม์อยู่ในงานเดียวกัน

ปี 2562 นี้ จัดงานมาแล้วเป็นปีที่ 60

..............

ดูก่อนภราดา!
:  ชื่อดี อาจไม่มีใครจำ
: แต่ชั่วดีที่ทำ จะไม่มีใครลืม

2736 “Recipes to Pali”

คำศัพท์ที่ ๒,๗๓๖ บาลีวันละคำ คำศัพท์ว่า

อนุกูล

เขียนแบบ RTGS เป็น anukun

นับวันจะเสื่อมสูญไปทุกที
อ่านว่า อะ-นุ-กูน
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-กู-ละ ประกอบด้วยคำว่า อนุ + กูล

(๑) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อย “อนุภรรยา” = เมียน้อย
แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป
แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา
แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก
ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม

(๒) “กูล”
บาลีอ่านว่า กู-ละ รากศัพท์มาจาก กูลฺ (ธาตุ = กั้น, ป้องกัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: กูลฺ + ณ = กูลณ > กูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่กั้นคือป้องกันน้ำมิให้ไหลออกไปข้างนอก” หมายถึง เนิน, ฝั่ง, เขื่อน (a slope, a bank, an embankment) (ตามปกติใช้กับแม่น้ำ)
อนุ + กูล = อนุกูล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปตามฝั่ง”
ขยายความโดยวาดภาพ: มีคนตกน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดไป คนที่อยู่บนฝั่งวิ่ง “ไปตามฝั่ง” เพื่อจะช่วยเหลือ นั่นแหละคือความหมายของ “อนุกูล”
ในบาลี “อนุกูล” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง อำนวยประโยชน์, เห็นด้วย, เหมาะสม, น่าพอใจ (favourable, agreeable, suitable, pleasant)

บาลี “อนุกูล” สันสกฤตก็เป็น “อนุกูล” รูปเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
“อนุกูล : (คำนาม) ความเกื้อกูล, ความกรุณา; สามีผู้สัตย์ซื่อ; a favour, kindness; a faithful husband; (คำวิเศษณ์) มีความสงเคราะห์แก่, อนุเคราะห์แก่; well disposed to, favourable to.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อนุกูล : (คำกริยา) เกื้อกูล, สงเคราะห์. (ป., ส.).”

..............

ดูก่อนภราดา!
: ไม่ช่วยไม่ว่า
ขอแค่อย่ารังแกกัน
: ไม่รักไม่ว่า
ขอแค่อย่ารังเกียจกัน

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567

2735 “Recipes to Pali”

คำศัพท์ที่ ๒,๗๓๕ บาลีวันละคำ คำศัพท์ว่า

ตติยมฺปิ

เขียนแบบ RTGS เป็น tatiyampi

“ครั้งที่สาม” - ครั้งสุดท้าย
อ่านว่า ตะ-ติ-ยำ-ปิ
ประกอบด้วยคำว่า ตติยํ + ปิ
(๑) “ตติยํ”
อ่านว่า ตะ-ติ-ยัง รูปคำเดิมเป็น “ตติย” (ตะ-ติ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ติ (ศัพท์สังขยา คือศัพท์บอกจำนวน) = สาม (จำนวน 3) + ติย ปัจจัยในปูรณตัทธิต, “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ ติ (ติ > ต)
: ติ + ติย = ติติย > ตติย แปลว่า “ที่สาม” ที่ (the third)
“ตติย” เป็นคุณศัพท์ ในที่นี้เป็นคำขยายคำว่า “วาร” (วา-ระ) = วาระ, ครั้ง, หน (the time) แต่ไม่ปรากฏคำว่า “วาร” เพราะละไว้ฐานเข้าใจ เพราะฉะนั้น “ตติย” ในที่นี้จึงแปลว่า “ครั้งที่สาม” (the third time)
“ตติย” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตติยํ” (ตะ-ติ-ยัง)
(๒) “ปิ”
เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ประกอบข้างท้ายคำอื่นเสมอ ไม่ใช่เดี่ยว นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปลว่า “แม้” คำเดียวยืนพื้น
แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิ” ไว้หลายนัย ขอยกมาเพื่อการศึกษาดังนี้ -
(1) also, and also, even so (ด้วย, และ, ถึงกระนั้น)
(2) even, just so; with numbers or num. expressions “altogether, in all, just that many” (ถึงแม้, เช่นนั้นทีเดียว; ถ้าแสดงจำนวนหรือกล่าวถึงตัวเลข “หมดด้วยกัน, ทั้งหมด, มากเท่านั้น”)
(3) but, however, on the other hand, now (continuing a story) (แต่, อย่างไรก็ตาม, อีกอย่างหนึ่ง, บัดนี้ [ดำเนินเรื่องให้ติดต่อกัน])
(4) although, even if (แม้ว่า, ถึงแม้ว่า)
(5) perhaps, it is time that, probably (บางที, พอจะ, อาจจะ)
(6) pi . . . pi in correlation (like api . . . api) (ปิ...ปิ ในการนำมาใช้คู่กัน [เหมือน อปิ...อปิ]):
(ก) both . . . and; very often untranslatable (ทั้ง...และ; บ่อยมากที่ไม่แปล)
(ข) either . . . or (อย่างนี้ ... หรือ)
ตติยํ + ปิ แปลงนิคหิตที่ (ตติ)-ยํ เป็น มฺ (ตติยํ > ตติยมฺ)
: ตติยํ + ปิ = ตติยํปิ > ตติยมฺปิ แปลว่า “แม้ครั้งที่สาม”
ขยายความ :
คำว่า “ตติยมฺปิ” ที่ชาวพุทธคุ้นมากที่สุดก็คือที่ปรากฏในบทไตรสรณคมน์
ไตรสรณคมน์มีข้อความดังนี้ -
..............
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.
..............
มีความหมายดังนี้ -
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่สอง (ทุติยัมปิ) ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่สาม (ตะติยัมปิ) ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
มีข้อควรฉงนว่า ทำไมจึงต้องทวนคำถึง 3 ครั้ง?
ผู้รู้ไขความไว้ว่า การใดๆ ก็ตาม ย่อมเปิดโอกาสให้ทำได้เพียง 3 ครั้ง ซึ่งอาจตีความเพื่อช่วยความเข้าใจว่า
ครั้งที่ 1 เป็นการเตือนให้รู้ตัว
ครั้งที่ 2 เป็นการให้เวลาเตรียมการ
ครั้งที่ 3 เป็นการตกลงใจ หรือตัดสินใจ หรือยืนยันเจตนาในครั้งแรก
และตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปนั้น ครั้งที่ 3 ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย (at last) คือเป็นครั้งตัดสิน (the third time decides)
การให้โอกาสใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ความสามารถ โอกาสที่จะแก้ตัว หรือโอกาสที่จะทำความดี อารยชนย่อมให้กันแค่ 3 ครั้ง ไม่มีครั้งที่ 4

..............

ดูก่อนภราดา!
มนุษย์มีเวลาในการทำความดีน้อยนิด ประมาณเพียง 100 ปีเท่านั้น
ท่านอาจไม่ได้สังเกตว่า แต่ละคนถูกเตือนให้เร่งทำความดีกันมาแล้วทั้งนั้น
: แก่ (มาพร้อมกับเกิด) = เตือนเป็นครั้งที่ 1
: เจ็บ = เตือนเป็นครั้งที่ 2
: อย่ารอให้เตือนเป็นครั้งที่ 3 ท่านคงเดาได้ว่าคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567

2734 “Recipes to Pali”

คำศัพท์ที่ ๒,๗๓๔ บาลีวันละคำ คำศัพท์ว่า

มุทิตา

เขียนแบบ RTGS เป็น muthita

มุทิตา ไม่ใช่ “มุทุตา”
และไม่ใช่ “มุฑิตา”
“มุทิตา” บาลีเขียน “มุทิตา” (มุ-ทิ-ตา) เหมือนกัน มีรากศัพท์มา 2 นัย คือ -
(1) มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ อาคม + ต ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มุทฺ + อิ + ต = มุทิต + อา = มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี” หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)
ความหมายตามนัยนี้ ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)
(2) มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย, แปลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น อิ (มุทุ > มุทิ)
: มุทุ + ตา = มุทุตา > มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้อ่อนโยน” หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy)
ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย
คำว่า “มุทิตา” ในทางธรรม มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “อนุโมทนา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).”
“มุทิตา” เป็นธรรมข้อที่ 3 ในพรหมวิหาร 4
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -
“มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔).”
อภิปราย :
คำว่า “มุทิตา” (-ทิ- ท ทหาร) นี้ ยังมีคนชอบเขียนผิดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ- ฑ มณโฑ) กันอยู่ทั่วไป แบบ-ไม่ยอมรับรู้อะไร ไม่อ่าน ไม่ฟังคำอธิบายชี้แจงใดๆ ยึดความเข้าใจของตัวเองเป็นเกณฑ์
ไม่ทราบว่าไปเอาความเข้าใจผิดๆ มาจากไหน
อาจจะอ้างว่า ก็-เห็นใครๆ เขาเขียนกันอย่างนี้ คือเห็นใครๆ เขาสะกดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ- ฑ มณโฑ)
ส่วนที่ใครๆ เขาเขียนถูก สะกดถูกเป็น “มุทิตา” (-ทิ- ท ทหาร) มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง กลับมองไม่เห็น ไม่เอาไปเป็นตัวอย่าง ชอบกลมาก
เวลานี้มีมาในมาดใหม่ คือตั้งใจจะให้มีความหมายว่า “มุทิตา” นั่นแหละ แต่สะกดเป็น “มุทุตา” ดูคล้ายๆ จะฉีกแนวให้ต่างไปจากคำเดิม แบบ-มีความคิดสร้างสรรค์อะไรทำนองนั้น
ในภาษาบาลีมีคำว่า “มุทุตา” หมายถึง ความนุ่ม, ความใจอ่อน, การปั้นแต่งได้ (softness, impressibility, plasticity) คือการมีจิตใจอ่อนโยน ไม่ดื้อกระด้าง ถอดเป็นลักษณะนิสัยคืออ่อนน้อมถ่อมตน
และถ้าสังเกตรากศัพท์ของ “มุทิตา” ในความหมายตามนัยที่ 2 (ดูข้างต้น) ก็จะเห็นว่า ความหมายตามนัยนี้ “มุทุตา” นั่นเองแปลงเป็น “มุทิตา” ซึ่งดูเหมือนจะยืนยันว่า ใช้ว่า “มุทุตา” ก็น่าจะได้
แต่โปรดทราบว่า “มุทิตา” ในที่นี้เป็นคำในชุดในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นคำที่ใช้ลงตัวแล้ว ไม่ว่า “มุทิตา” จะแปลงมาจาก “มุทุตา” หรือแปลงมาจากคำอะไรอีกก็ตาม สุดท้ายก็ลงตัวเป็น “มุทิตา” ไม่ใช่ “มุทุตา” เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้เป็น “มุทิตา” คำเดียว สะกดเป็นอย่างอื่น ความหมายก็เพี้ยนไป
อันที่จริง คำว่า “มุทุตา” ก็มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 โดยบอกความหมายไว้ว่า -
“มุทุตา : (คำนาม) ความเป็นผู้มีใจอ่อน, ความอ่อนหวาน, ความละมุนละม่อม. (ป.).”
จะเห็นได้ว่าเป็นคนละเรื่องกับ “มุทิตา”
“มุทิตา” ใครขืนใช้เป็น “มุทุตา” ก็ไปคนละโลก

..............

ดูก่อนภราดา!
: ความรู้ หาไม่ยาก
: แต่ความใฝ่รู้ หายาก

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

2733 “Recipes to Pali”

คำศัพท์ที่ ๒,๗๓๓ บาลีวันละคำ คำศัพท์ว่า

ประมุข

เขียนแบบ RTGS เป็น pramuk

ไม่ใช่เป็นแค่คนอยู่หัวแถว
อ่านว่า ปฺระ-มุก
บาลีเป็น “ปมุข” (ปะ-มุ-ขะ) รากศัพท์มาจาก ป + มุข
(๑) “ป”
อ่านว่า ปะ (ไม่ใช่ ปอ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
(๒) “มุข”
บาลีอ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก -
(1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: มุขฺ + อ = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข”
(2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ข ปัจจัย
: มุ + ข = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก”
“มุข” หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ ปาก (the mouth) และ หน้า (the face) จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท
ในที่นี้ “มุข” หมายถึง หน้า (the face)
ป + มุข = ปมุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “มุขประธาน” (2) “ผู้มีความเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่” (3) “ผู้เป็นหัวหน้าโดยความเป็นประธาน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปมุข” ตามตัวว่า “in front of the face” (ต่อหน้า) และบอกความหมายว่า fore-part, first, foremost, chief, prominent (ส่วนหน้า, แรก, ขึ้นหน้า, หัวหน้า, เด่น)
บาลี “ปมุข” สันสกฤตเป็น “ปฺรมุข”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมุข : (คำวิเศษณ์) ‘ประมุข,’ ประธาน, มุขย์, เปนใหญ่; ดียิ่ง, วิศิษฏ์ยิ่ง; เอก, ที่หนึ่ง; chief, principal; best, most excellent; first; - (คำนาม) หัวน่า; ผู้เปนใหญ่เปนประธาน; บัณฑิต, นรผู้ควรเคารพ; กอง, หมู่; เวลาปัตยุบัน; a chief; a sage, any respectable man; a heap, a multitude; the present time.”
ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมุข” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ประมุข : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าของประเทศหรือศาสนาเป็นต้น. (ส. ปฺรมุข; ป. ปมุข).”
ขบคำออกมาเป็นธรรมะ
ถ้าเอาคำอุปสรรค “ป” = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก มาตีความควบกับ “มุข” = หน้า “ปมุข” ก็น่าจะมีความหมายในเชิงปฏิบัติว่า:
- “หน้าทั่วไป” คือไม่ว่าใครจะมีสุขมีทุกข์อยู่ที่ไหน ก็จะได้เห็นหน้าของท่านผู้นั้นอยู่ด้วยทั่วไปทุกแห่ง ไม่หายหน้าไปไหนเลย
- “หน้าข้างหน้า” คือไม่ว่าเกิดเรื่องร้ายดีอย่างไร ท่านผู้นั้นจะออกหน้าประชาชนเสมอ ไม่เคยหลบอยู่ข้างหลัง
- “หน้าก่อน” คือไม่ว่าเกิดเหตุอะไร ท่านผู้นั้นจะไปถึงก่อนใครทั้งหมด ไม่ใช่ว่า-เขาตีกันจนเลิกไปแล้ว เพิ่งจะโผล่มา
- “หน้าออก” คือเป็นหน้าของผู้ที่จะพาประเทศชาติบ้านเมืองหรือสังคมของตนออกไปจากอุปสรรคและปัญหาทั้งปวงได้ ไม่ใช่ปล่อยให้จมปลักหรือวนเวียนอยู่กับปัญหาแบบ-หาทางออกไมเจอ

..............

ดูก่อนภราดา!
: ลังเลไม่ควรเป็นผู้นำ
: พูดคำเถียงคำไม่ควรเป็นผู้ตาม